ชาวไร่มันฯ ต้องเปลี่ยน ใช้น้ำหยดได้ไร่ละ 8 ตัน
สภาพอากาศแห้งแล้ง เกษตรกรหลายพื้นที่ไม่พร้อมปรับเปลี่ยนปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะชาวไร่มันสำปะหลังที่กำลังวิตกกังวล ลงท่อนพันธุ์ไปแล้วรอดจากอาการแห้งตายคาท้องร่องได้หรือไม่ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แนะการทำเกษตรในช่วงวิกฤตินี้ จะให้ได้ผลดี เกษตรกรต้องทำเกษตรแบบประณีต ดูแลตัวพืช สภาพดิน และใช้เทคโนโลยีที่ให้ผลตอบแทนดี ไม่ใช่ยึดการทำเกษตรแบบดั้งเดิม การทำไร่มันสำปะหลัง หากต้องการให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ควรเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์
ขณะนี้มีพันธุ์เด่น 2 สายพันธุ์ ระยอง 7 คุณภาพแป้ง 27-29% หัวมันมีสีเปลือกขาวนวล ผลผลิต 6 ตันต่อไร่ กับ ระยอง 9 คุณภาพแป้ง 28-31% หัวมันมีสีน้ำตาลอ่อน ให้ผลผลิต 5 ตันต่อไร่ ทั้งสองสายพันธุ์สามารถปลูกได้ทั้งในสภาพดินร่วนปนทราย แม้ดินจะมีอินทรียวัตถุต่ำก็ตาม
สำหรับวิธีการปลูกที่เหมาะสม อธิบดีกรมวิชาการเกษตรแนะนำต้องใช้ระยะห่างระหว่างต้น 90×90 ซม. ระหว่างแถว 40 ซม. เป็นระยะที่ช่วยให้หัวเจริญเติบโต รากเดินได้เต็มที่ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ส่วนการให้น้ำควรให้ตามความจำเป็นที่พืชต้องการ ซึ่งมันสำปะหลังระยะเวลาให้น้ำเหมาะสมอยู่ในช่วงตั้งแต่ปลูกไปจนถึงอายุ 150 วัน
“เกษตรกรจะเคยชินกับการปล่อยให้น้ำไหลไปตามท้องร่อง วิธีนี้นอกจากจะสิ้นเปลืองน้ำมาก ยังทำให้พวกหญ้าวัชพืชเกิดขึ้นได้ง่ายตามท้องร่อง วันนี้เกษตรกรควรหันมาใช้ระบบน้ำหยดโคนต้นแทน ไม่เพียงจะช่วยให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ยังช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเงินและเวลาในการกำจัดวัชพืชอีกด้วย”
ส่วนพื้นที่ไหนไม่มีน้ำผิวดิน จำเป็นต้องเจาะบ่อบาดาล แต่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง การเดินสายไฟฟ้าไปยังแปลงปลูกต้องใช้เงินทุนสูง ดังนั้นควรนำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้สูบน้ำมาเก็บไว้ในตุ่มสำรองพักน้ำ แล้วต่อท่อจ่ายน้ำเข้าสู่ระบบน้ำหยด พื้นที่ปลูก 15 ไร่ ใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 120,000 บาท สามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี เพราะการให้น้ำแบบนี้จะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 3 ตัน เป็น 6-8 ตัน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ