พณ. โชว์แผนรับมือสินค้าเกษตรตามฤดูกาล ป้องผลผลิตล้นตลาด-ราคาตก
ก.พาณิชย์ ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญตามฤดูกาล ทั้งมันสำปะหลัง หอมแดง กระเทียม และผลไม้ พร้อมโชว์แผนรับมือ ป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาด-ราคาตกต่ำ พร้อมจับตาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 59 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญตามฤดูกาล โดยมอบหมายให้ นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการจัดทำแผนงานและจัดเตรียมมาตรการรับมือกับผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำจนกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร
ทั้งนี้ ในส่วนของมันสำปะหลัง ขณะนี้ผลผลิตปี 58/59 กำลังออกสู่ตลาด คาดว่าจะมีปริมาณ 31.81 ล้านตัน และแนวโน้มราคาอ่อนตัวลง ซึ่งรัฐบาลได้ช่วยเหลือโดยใช้มาตรชะลอการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เกษตรกรทยอยขุดหัวมันจำหน่าย ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งผลักดันการส่งออกมันเส้นไปจีน และได้กวดขันเรื่องการลักลอบการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับสินค้าพืชหัว คาดว่า หอมแดง จะมีผลผลิต 99,562 ตัน หอมหัวใหญ่ 44,598 ตัน และกระเทียม 73,638 ตัน โดยขณะนี้ หอมแดงหัวกลางมัดจุกแห้ง 7-15 วัน ราคา 20 บาทต่อกิโลกรัม หัวใหญ่มัดจุก ราคา 28.60 บาทต่อกิโลกรัม หอมหัวใหญ่ เบอร์ 1 ตัดจุก 14.58 บาทต่อกิโลกรัม กระเทียมสดคละ 35 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในช่วงที่ผลผลิตออกมาก จะเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าและการสำแดงราคาให้ตรงตามข้อเท็จจริง
ส่วนกลุ่มสินค้าผลไม้ คาดการณ์ผลผลิตปี 59 โดยทุเรียน จะมีผลผลิต 651,568 ตัน มังคุด 280,757 ตัน และเงาะ 326,260 ตัน โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือน เม.ย. 59 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมพร้อมในการบริหารจัดการ โดยได้เชื่อมโยงตลาด ผลักดันผลผลิตไปสู่ตลาดปลายทางในจังหวัดต่างๆ และขายผ่าน Farm Outlet ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่งค้าปลีก รวมทั้งการระบายผลผลิตออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งการไปจัดแสดงและจำหน่ายผลไม้ไทย การนำคณะผู้ซื้อเข้ามาซื้อสินค้าไทย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยังได้ติดตามสินค้าเกษตรที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น พริก และสุกร โดยได้ขอให้เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาได้ทันสถานการณ์หากมีปัญหาเกิดขึ้น และขอให้ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาด ทั้งในและต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เพื่อให้สามารถรักษาเสถียรภาพของราคา ไม่ให้เกิดความผันผวนมากจนเกิดความเดือดร้อนต่อเกษตรกรภายในประเทศด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ