เจ๋ง! ทีมวิจัยม.อุบลฯ ออกแบบเครื่องถอนมันขนาดเล็ก ต้นทุนเพียงหลักพัน
อาจารย์วิศวะฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คิดค้นเครื่องถอนมันสำปะหลังขนาดเล็ก ลดต้นทุน ทุ่นแรง ราคาไม่แพงแค่หลักพัน แถมช่วยรักษาสุขภาพเกษตรกร
มื่อวันที่ 19 ม.ค.60 รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้คิดค้นนวัตกรรม เครื่องถอนมันสำปะหลังขนาดเล็ก เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรชาวสวนมันสำปะหลัง ที่ทำไร่มันขนาดเล็ก ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นของ ผศ.รัฐพงศ์ ปฏิกานัง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
ผศ.รัฐพงศ์ กล่าวว่า การคิดค้นเริ่มจาก ดั้งเดิมเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง มักใช้เครื่องมือถอนมันแบบคานงัด โดยใช้หลักการปากคีบเกี่ยวที่ลำต้นใช้หัวไหล่ดันแรง ทิศทางดันแรงก็คือ จากพื้นขึ้นด้านบน ซึ่งหลักการลักษณะนี้ต้องออกแรงมาก อาจส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพได้ แต่ถ้าเกษตรกรจะใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการทุ่นแรง ก็จะเป็นรถไถที่ใช้ใบผานขุดหัวมันขึ้นมา ซึ่งต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก
ในส่วนนี้ ทีมนักวิจัยจึงได้ศึกษาคิดค้นนวัตกรรมเครื่องถอนมันสำปะหลังขนาดเล็ก ประยุกต์เครื่องมือที่ชาวบ้านมีอยู่แล้วมาดัดแปลง พัฒนาต่อจากเดิม ลักษณะการออกแรงที่ต้องงัดขึ้นให้เป็นดึงลง ซึ่งจะอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก รวมทั้งน้ำหนักตัวเราเองด้วยในการดึง ซึ่งจะเบาแรงมากขึ้น โดยใช้กลไกของระบบรอกและคานมาร่วมกันเป็นตัวผ่อนแรงอีกทีหนึ่ง สมรรถนะคุณภาพของเครื่องในการใช้งาน สามารถดึงหัวมันสำปะหลังขึ้นมาจากดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหัวมันสำปะหลังไม่หัก การใช้งานได้ดีประมาณ 80% สามารถรองรับการยกน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะได้พัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป ในส่วนของต้นทุนการผลิตของเครืองไม่สูงมากนัก อยู่ที่หลักพันต้นๆ ความโดดเด่นของเครื่องคือการใช้งานง่ายเหมาะกับเกษตรกรที่ทำไร่มันขนาดเล็ก สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ต่อคน ต่อวัน และปัญหาอีกอย่างคือเรื่องของสภาพร่างกาย เพราะเครื่องถอนมันสำปะหลังขนาดเล็ก จึงตอบโจทย์เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
ผศ.รัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานนวัตกรรม ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยทีมนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่สามารถคิดค้นเครื่องถอนมันสำปะหลังขนาดเล็ก ช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กำลังดำเนินระหว่างการขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (อนุสิทธิบัตร) ต่อไป
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์