เตรียมพร้อมรับมือโรคไวรัส ใบด่างมันสำปะหลัง ไม่ให้เล็ดลอดเข้าไทย
โรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังอาจยังไม่ใช่โรคระบาด ที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย แต่ขณะนี้มีข้อมูลว่าพบแพร่ระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านคือ เวียดนาม และกัมพูชา ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาระบาดในประเทศและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกร ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต
โรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง หรือ cassava mosaic disease (CMD) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส cassava mosaic virus เป็นไวรัสในกลุ่ม Begomovirus วงศ์ Geminiviridae มีต้นกำเนิดมาจากประเทศในแถบแอฟริกา ต่อมาปี 2559 พบการระบาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศกัมพูชา โดยจำแนกได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) โรคชนิดนี้สามารถแพร่ระบาดได้โดยท่อนพันธุ์ และแมลงหวี่ขาวยาสูบ (Bemisia tabaci (Gennadius))(Hemiptera : Aleyrodidae) ซึ่งพืชที่แมลงหวี่ขาวยาสูบชอบอาศัยนั้นมีอยู่หลายชนิด เช่น กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่งพืชตระกูลพริก มะเขือ มันฝรั่ง และพืชตระกูลแตง ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลของการเป็นพืชอาศัยได้ของเชื้อไวรัส SLCMV กับพืชดังกล่าว แต่มีรายงานเกี่ยวกับพืชอาศัยอื่นๆ ของเชื้อไวรัสชนิดนี้ว่าสามารถอาศัยและเพิ่มปริมาณได้ในพืช เช่น พืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ชุมเห็ดเล็ก กระถิน ถั่วเหลือง พืชน้ำมัน ได้แก่ ละหุ่ง สบู่ดำ
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หากโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังเข้ามาในประเทศไทยได้ จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังที่ลดลงได้มากถึง 80-100% โดยมันสำปะหลังที่เป็นโรคดังกล่าวจะแสดงอาการใบด่างเหลือง ใบเสีย รูปทรง ลดรูป และยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาการด่างเหลืองรุนแรง ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต หรือมีการเจริญเติบโตน้อย ทำให้ไม่มีการสร้างหัวมันสำปะหลัง ข้อสังเกตหากอาการใบด่างเหลือง หดลดรูป เกิดเฉพาะที่ใบยอด แสดงว่าการระบาดเกิดจากแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรคหากพบอาการผิดปกติทั้งต้นตั้งแต่ใบอ่อนจนใบแก่ แสดงว่าเกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคมาปลูก ที่สำคัญโรคนี้ไม่มียาหรือสารเคมีชนิดใดที่จะป้องกันกำจัดได้
ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่าปัจจุบัน ไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่มีรายงานว่าพบ การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเริ่มพบการระบาดในปี 2559 ที่จังหวัด รัตนคีรี ประเทศกัมพูชา เป็นที่แรกในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีระยะห่างจากประเทศไทยประมาณ 700 กิโลเมตร ต่อมาปี 2560 ระบาดไปที่ จังหวัดเต็ยนิญ (Tay Ninh) ของประเทศเวียดนาม พร้อมแพร่ระบาดไปอีกหลายจังหวัดในประเทศกัมพูชาและล่าสุด ปี 2561 พบที่จังหวัด อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระยะทางห่างจากชายแดนไทยที่อำเภอ ภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เพียง 30-40 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กับแหล่งปลูก มันสำปะหลังสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมความพร้อมรับมือโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศไทย โดยจัดทำแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สมาชิกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ผู้นำชุมชน และเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนให้ทราบถึงลักษณะอาการและความสำคัญของโรค ส่งเสริมให้ใช้ท่อนพันธุ์สะอาด และให้หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์ในแปลงมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยหากพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการคล้ายโรคใบด่างให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน พร้อมเก็บตัวอย่างส่งกรมวิชาการเกษตรเพื่อยืนยันความเป็นโรค และลงพื้นที่แก้ไขปัญหาโดยทันที ควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.กักพืช ที่ห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง คุมเข้มการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับมาตรการป้องกันในกรณีที่เกิดการระบาดเข้ามาในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมหารือกับกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการและแนวทางป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า