นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์มันสำปะหลังในปัจจุบัน มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณ 20% หรือปริมาณ 6.20 ล้านตัน จากผลผลิตคาดการณ์ไว้ในปี 2559 ปริมาณ 31.81 ล้านตัน ราคาที่เกษตรกรขายได้ (เชื้อแป้ง 25%) กิโลกรัมละ 2.10-2.15 บาท และความต้องการหัวมันสดคุณภาพสูงยังมีต่อเนื่อง ทั้งนี้ เทียบผลผลิตปี 2559 กับ 2559 พบว่า ผลผลิตออกสู่ตลาดยังน้อย จาก 30,000 ตัน/วัน เหลือ 10,000 ตัน/วัน เนื่องจากภัยแล้ง ทำให้ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวล่าช้าออกไป ประกอบกับคุณภาพหัวมันสดมีเชื้อแป้งต่ำและสิ่งเจือปนสูง จึงทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ผู้ประกอบการจึงชะลอการรับซื้อ เพื่อรอรับซื้อหัวมันสดที่ได้คุณภาพตามความต้องการ ดังนั้น หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลัง ที่มีคุณภาพสูง ครบกำหนดระยะเวลา และไม่มีสิ่งเจือปนราคา จะมีแนวโน้มไม่ต่ำกว่าราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับมันเส้น จีนถือเป็นตลาดนำเข้าหลัก โดยมีสัดส่วนนำเข้า 99% ของการส่งออกมันเส้นของไทย แต่จากกระแสข่าวการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจีน และมาตรการกีดกันการนำเข้ามันสำปะหลังจากไทย ทำให้ราคามันเส้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้ว แต่ผู้ส่งออกไทยเกรงว่าจะไม่มีมันเส้นเพียงพอที่จะส่งมอบ จึงยังไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ
“นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายหวาง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน ) เมื่อ 17 ธันวาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่ารัฐบาลจีนไม่มีนโยบายในการลดการนำเข้ามันสำปะหลังจากไทย และยังสนับสนุนให้บริษัทจีนเพิ่มการนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยให้มากขึ้น” นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวว่า รัฐบาลจีนยังสนับสนุนการใช้ข้าวโพดไทยในอุตสาหกรรมพลังงานของจีน เพราะราคาในจีนสูงจากสต๊อกลดลง ทำให้มันเส้นของไทยเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากราคาแตกต่างจากข้าวโพดเพียง 200-300 หยวน/ตัน ส่วนแป้งมัน เป็นสินค้าที่มีศักยภาพ และยังเป็นที่ต้องการในตลาดส่งออกเดิม คือ อินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน ตลาดส่งออกใหม่ คือสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ยังมีความต้องการแป้งมันคุณภาพสูง ที่ผ่านมาตรฐานการรับรองระดับสากล และผ่านการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของตลาดมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ แป้งมันที่ใช้ทดแทนแป้งสาลีสำหรับอุตสาหกรรมขนมและอาหาร สามารถเพิ่มมูลค่าแป้งมันได้ในราคาที่สูงขึ้น แนวโน้มมันสำปะหลังของโลก มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 500,000 ตัน เป็น 289 ล้านตัน
“สภาพอากาศที่แห้งแล้ง อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังและผลผลิตรวมของโลก ในส่วนของประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกมันเส้นอันดับ 1 ของโลก โดยตลาดโลก เริ่มมีการนำมันสำปะหลังมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นในแต่ละปี นอกเหนือไปจากการใช้ มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ”
นางอภิรดีกล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง รัฐบาลได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลัง ใน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด เป้าหมายเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกมันสำปะหลัง 20,000 ราย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท และ 2.โครงการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกมันสำปะหลัง 100,000 ราย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน