“พาณิชย์” เชือดจริงเอกชน 2 รายนำเข้ามันเส้นไม่ได้มาตรฐาน

“พาณิชย์” เชือดจริงเอกชน 2 รายนำเข้ามันเส้นไม่ได้มาตรฐาน

“พาณิชย์” เชือดจริงเอกชน 2 รายนำเข้ามันเส้นไม่ได้มาตรฐาน สั่งแบนห้ามนำเข้า เตรียมจับมือกับ “ค้าภายใน” ยกระดับตรวจสอบมันเส้นนำเข้า

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในระยะ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดซื้อขายมันเส้นตามแนวชายแดนกลับมาคึกคัก เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศเพื่อนบ้านเริ่มทยอยออกสู่ตลาดกรมฯได้สั่งการให้เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่คุมเข้มตรวจสอบมาตรฐานมันเส้นนำเข้า ตามแนวชายแดนที่เป็นจุดนำเข้ามันเส้นจากประเทศเพื่อนบ้าน

โดยผลจากการลงพื้นที่ล่าสุดพบผู้ประกอบการ 2 ราย นำเข้ามันเส้นไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จึงลงโทษโดยการพักทะเบียนจนกว่าจะนำมันเส้นที่ถูกตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปปรับปรุงจนได้มาตรฐานตามที่กำหนดจึงจะกลับมานำเข้าได้

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งกำกับดูแลมาตรฐานมันเส้นนำเข้า ได้เตรียมผนึกกำลังกับกรมการค้าภายใน (คน.) ซึ่งกำกับดูแลการขนย้ายมันเส้น เช่น เส้นทางการวิ่งของรถบรรทุกมันเส้นจากต้นทางถึงปลายทาง และน้ำหนักบรรทุก เป็นต้น เพื่อยกระดับการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่สายตรวจในพื้นที่จะประสานและแชร์ข้อมูลกัน เมื่อเจ้าหน้าที่มีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นก็จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้กรมฯได้ร่วมมือกับกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) และ กรมการค้าภายใน (คน.) จะดำเนินการอย่างเข้มข้นและจริงจังภายใต้นโยบายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการเข้มงวดคุณภาพมาตรฐานทั้งมันเส้นนำเข้าและส่งออก ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่ฤดูกาลหัวมันสำปะหลังทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยหัวมันสดส่วนหนึ่งจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลัง

และอีกส่วนหนึ่งจะเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันชิ้น และมันอัดเม็ด โดยที่สินค้าแป้งมันสำปะหลังดิบ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นสินค้ามาตรฐาน ซึ่งตามกฎหมายมาตรฐานสินค้า กำหนดให้การส่งออกทุกล็อตจะต้องได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเพื่อใช้ประกอบพิธีการศุลกากร

เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังจากประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ฉะนั้น จึงขอเตือนผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออกให้เคร่งครัดการรับซื้อมันเส้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หากพบผู้กระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

“กีรติ” สั่งเข้มคุมคุณภาพมันสำปะหลังพบทำผิดดำเนินการขั้นเด็ดขาด

“กีรติ” สั่งเข้มคุมคุณภาพมันสำปะหลังพบทำผิดดำเนินการขั้นเด็ดขาด

“พาณิชย์”ตรวจเข้มผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก มันด้อยคุณภาพ ปลอมปนหวั่นกระทบราคามันเส้น หัวมัน ขู่ เจอเป็นจับหากไม่ตรงตามกฎระเบียบด้านคุณภาพมาตรฐานการขนย้าย

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังติดตามสถานการณ์การรับซื้อมันสำปะหลัง ร่วมกับกรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ พร้อมด้วยสมาคมการค้ามันสำปะหลังจาก 4 สมาคม และสมาชิกอีกประมาณ 60 ราย โดยจากสถานการณ์ราคามันสำปะหลังในประเทศอ่อนตัวลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกซึ่งปีที่ผ่านมาไทยส่งออกมากถึง 10 ล้านตัน และในช่วงม.ค. – ก.ย. 65 นี้

ไทยยังคงส่งออกได้มากถึง 8.73 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้รวม 11 ล้านตันมากกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังเสียหายกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่กว่า 15% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ซึ่งทำให้โอกาสที่ราคามันสำปะหลังในฤดูกาลผลิตนี้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อไป

“สถานการณ์ที่ราคารับซื้อลดลงในขณะนี้สร้างความไม่สบายใจเป็นอย่างมากเพราะจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปถึงเกษตรกร จึงขอให้ผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม ไม่กดราคา ซึ่งได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศเข้มงวดตรวจสอบให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายของทั้ง 2 กรมฯ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพมาตรฐานนำเข้า-ส่งออก หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ให้รายงานเข้ามาได้ทันที และจะจัดการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด”

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน พร้อมรับนโยบายและขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรและผู้ประกอบการ กรมฯ ได้ขอความร่วมมือสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ประชาสัมพันธ์เกษตรกรให้เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ ตัดเหงาเอาดินออกก่อนนำไปจำหน่ายเพื่อไม่ให้ผู้รับซื้อหักสิ่งเจือปนจนเกิดความไม่เป็นธรรม

รวมทั้งสั่งการให้สายตรวจกรมการค้าภายในสนธิกำลังร่วมกับตำรวจทางหลวงและหน่วยงานในพื้นที่เข้มงวดตรวจสอบการขออนุญาตขนย้ายให้เป็นไปตามประกาศ กกร. หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เข้มงวดกำกับดูแลการส่งออกต้องเป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัดเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประเทศผู้ซื้อใช้เป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อผลิตภัณฑ์มันสำะหลังไทย รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นด้วยแล้ว”

อย่าไรก็ตาม หากดำเนินมาตรการดังกล่าวแล้วสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นหรือยังพบว่าการรับซื้อในประเทศยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป ก็พร้อมจะเพิ่มความเข้มข้นในการใช้มาตรการอื่นมากำกับดูแล ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับความสะดวกในการซื้อขายได้ ทั้งนี้หากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 รวมทั้งพบเห็นการนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ไม่ถูกต้องสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1385 กรมการค้าต่างประเทศ

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

“จุรินทร์” ติดตามประกันรายได้ “โคราช” ดึงปินส์เซ็นซื้อมันฯ 2 ล้านตันดันราคา

“จุรินทร์” ติดตามประกันรายได้ “โคราช” ดึงปินส์เซ็นซื้อมันฯ 2 ล้านตันดันราคา

“จุรินทร์” ลุยโคราช ติดตามประกันรายได้ปี 3 เข้าปี 4 ดึงฟิลิปปินส์ทำเกษตรพันธสัญญา” ซื้อมันสำปะหลังไทย 2 ล้านตัน ดันราคามันพุ่ง ขณะส่งออกมันฯคาดปีนี้มากกว่า 1.2 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงาน (6 พ.ย. 2565) ณ วิทยาลัยเทคนิคปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานและเป็นสักขีพยานพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เจรจาซื้อขายผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังระหว่างสมาคมมันสําปะหลังไทย 3 สมาคม และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ของฟิลิปปินส์ (PAFMI)

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีได้พบกับพี่น้องเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดซึ่งวันนี้มีหลายกิจกรรม เช่น การมอบป้ายและโฉนดของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ไม่ให้ถูกยึดที่ดินทำกินให้มาเป็นหนี้กับกองทุนฟื้นฟูแทน ซึ่งตนได้เข้ามาดูแลโดยประสานการปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 0% และมีงบในการฟื้นฟูเพื่อให้ทำอาชีพรวมกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มสหกรณ์ ล่าสุดได้ขออนุมัติเงินงบกลาง 2,000 ล้านบาท และได้มาเพิ่มอีก 500 ล้านบาทสำหรับงบปี 2566 จากหลายยุคที่ได้น้อยมาก

2.เรื่องการเกษตร ในส่วนของอ้อยมีระบบการดูแลราคาที่ดี ช่วยชาวไร่อ้อยยังชีพได้ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นยุคที่ราคาดีที่สุดในประวัติศาสตร์ แตะกิโลกรัม (กก.)ละ 12 บาท มันสำปะหลัง นครราชสีมา หรือโคราช คือเมืองหลวงมันสำปะหลังของไทย ปลูกมากที่สุด 2 ปีที่ผ่านมาราคาดีที่สุดยุคหนึ่ง และดีที่สุดในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาอาจจะขึ้นไปมากกว่านี้ โดยใช้ระบบ “เกษตรพันธสัญญา” ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้มีหลักประกัน เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เรียกว่า “อมก๋อยโมเดล” ซึ่งทำได้ไวทำได้จริง

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า การลงนามซื้อขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในครั้งนี้ เป็นล็อตใหญ่สุดในประวัติศาสตร์โดย 3 สมาคม ประกอบด้วย นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย กับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ของฟิลิปปินส์ ซื้อมันเส้น 2 ล้านตันส่งมอบภายในหนึ่งปี และปีหน้าจะมาซื้ออีก ทำให้ราคามันฯมีเสถียรภาพมากขึ้น

“ถ้าวันไหนราคาตก จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่เรายังมีนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะเป็นหลักประกันให้พี่น้องเกษตรกร คือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลดำเนินการมา 3 ปีเต็ม ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 4 ปีสุดท้าย ซึ่งกำลังรอการพิจารณาของ ครม.” นายจุรินทร์ กล่าว และว่า

ในเดือนมกราคม 2566 จะจัดประชุมมันสำปะหลังโลกที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้คนทั้งโลกได้รู้ว่าเมืองหลวงของมันสำปะหลังประเทศไทยอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทำตลาดมันสำปะหลังไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 120,000 ล้านบาท ปีนี้คาดจะมากกว่า

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

นักวิจัยกรมวิชาการเกษตร เฉียบค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลใหม่ ร่นระยะเวลาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ต้านทานโรค

นักวิจัยกรมวิชาการเกษตร เฉียบค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลใหม่ ร่นระยะเวลาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ต้านทานโรค

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคนิคด้านเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามามีบทบาทด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในงานปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีลักษณะที่ดีตรงตามความต้องการ เช่น เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลมีประโยชน์ในการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมและการจำแนกพันธุ์ รวมทั้งบางเครื่องหมายโมเลกุลยังมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางการเกษตร เช่น ผลผลิตสูง ไซยาไนด์ต่ำ และความต้านทานโรค ซึ่งการนำเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับลักษณะทางการเกษตรเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงพันธุ์ได้

จากปัญหาการลดลงของผลผลิตมันสำปะหลังมีสาเหตุสำคัญมาจากโรคพืช เช่น โรคใบด่างมันสำปะหลัง และโรครากปม คณะนักวิจัยจากสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับลักษณะปริมาณไซยาไนด์ต่ำ ความต้านทานโรครากปมและโรคใบด่างมันสำปะหลัง และนำมาใช้ในคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง ผลการวิจัยพัฒนาได้เครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์ จำนวน 3 เครื่องหมาย เพื่อใช้คัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ไซยาไนด์ต่ำ และต้านทานโรครากปม ซึ่งมันสำปะหลังที่เป็นโรครากปมจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ที่จะทำให้ทราบว่ามันสำปะหลังถูกไส้เดือนฝอยทำลาย ดังนั้นเกษตรกรจึงไม่ทราบว่าผลผลิตหัวมันสำปะหลังมีปริมาณและคุณภาพเป็นอย่างไร หลังจากที่ต้องใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนาน 10-12 เดือน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์ มีประโยชน์ในการจำแนกพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์พืชที่มีลักษณะที่ต้องการ โดยหากเครื่องหมายสนิปส์มีตำแหน่งใกล้กับยีนควบคุมลักษณะมากเท่าใด ความแม่นยำในการคัดเลือกพันธุ์พืชยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งผลการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังจำนวน 250 พันธุ์โดยใช้เครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ลักษณะ สามารถคัดเลือกได้กลุ่มพันธุ์ที่มีแนวโน้มต้านทานโรคใบด่างและไซยาไนด์ต่ำ จำนวน 9 พันธุ์ และกลุ่มพันธุ์ที่มีแนวโน้มต้านทานทั้งโรคใบด่างและโรครากปม จำนวน 4 พันธุ์ ซึ่งผลการทดสอบความถูกต้องของเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์พบว่าทั้ง 3 เครื่องหมายที่พัฒนาขึ้นมีความถูกต้องมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงในการคัดเลือกพันธุ์ โดยนักปรับปรุงพันธุ์สามารถนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ไปใช้ในการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อพัฒนาพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรได้ เนื่องจากสามารถเลือกเฉพาะต้นที่มีแถบดีเอ็นเอที่มีลักษณะที่ต้องการไว้ เป็นการเพิ่มความแม่นยำในการคัดเลือกลักษณะทางการเกษตรที่ต้องการ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า “การคัดเลือกพันธุ์พืชด้วยเครื่องหมายโมเลกุลมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์อย่างมาก เนื่องจากช่วยลดจำนวนพืชที่จะปลูกเพื่อคัดเลือก ระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้สามารถลดพื้นที่ปลูก แรงงาน และค่าใช้จ่าย ได้ถึง 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการคัดเลือกแบบเดิมที่ใช้ลักษณะปรากฏ อีกทั้งสามารถตรวจคัดเลือกได้หลายลักษณะพร้อมกัน รวมทั้งเครื่องหมายสนิปส์ด้วยเทคนิค Tetra-Primer ARMS-PCR นี้ มีความสะดวก ใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และยังมีต้นทุนการตรวจสอบเพียง 10 บาทต่อการตรวจสอบสนิปส์ 1 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับเทคนิคอื่นๆ หน่วยงานต่างๆ สามารถนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ไปใช้คัดเลือกพันธุ์ได้ทันที ทั้งนี้เครื่องหมายสนิปส์ลักษณะความต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลังสามารถนำไปใช้ต่อยอดในงานวิจัยการใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกลักษณะต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งดำเนินการในปี 2565 – 2567 ได้

“ได้ขอจดอนุสิทธิบัตรเครื่องหมาย สนิปส์ของลักษณะปริมาณไซยาไนด์ต่ำในนามของกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานใดหรือผู้ที่สนใจนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ไปใช้คัดเลือกพันธุ์สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2904-6885” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ที่มา : www.RYT9.COM

จุรินทร์ ยกระดับไบโอพลาสติกจากมันสำปะหลัง หนุนส่งออก 1,000 ล้านในปี’67

จุรินทร์ ยกระดับไบโอพลาสติกจากมันสำปะหลัง หนุนส่งออก 1,000 ล้านในปี’67

“จุรินทร์” ยกระดับ “ไบโอพลาสติก” ที่ทำจากมันสำปะหลัง หนุนส่งออกเป็นสินค้าสำเร็จรูป ทั้งถุงพลาสติก หลอด จาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งเป้าทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทในปี’67 แจ้งข่าวดี ฟิลิปปินส์เตรียมซื้อมันสำปะหลัง 3-4 ล้านตัน

วันที่ 15 กันยายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กิจกรรม “ส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากมันสำปะหลัง และสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลัง” กับ 11 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ว่าการ MOU ครั้งนี้จะช่วยผลักดันและสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้ามันสำปะหลัง และเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนอนาคตสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) และสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังของไทยได้

นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อขยายโอกาสทางการค้า เชื่อว่างานนี้จะช่วยส่งเสริมการตลาดแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังจากหิ้งสู่ห้าง โดยตั้งเป้าหมายที่สินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากมันสำปะหลัง เป็นสินค้านำร่องในระยะแรกก่อน โดยได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังไปยังต่างประเทศมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 และยังสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต”

โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การตลาด และการแก้ไขปัญญาเกี่ยวกับมันสำปะหลัง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับสินค้าเกษตรจากมันสำปะหลัง ให้เป็นสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ผลการจัดกิจกรรมในวันนี้จะช่วยผลักดันให้การส่งออกมันสำปะหลังปี 2565 ทั้งปี เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 2564 คิดเป็นปริมาณรวม 11 ล้านตัน มูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (130,000 ล้านบาท) รวมทั้งสินค้า Bioplastic จากมันสำปะหลังที่ได้รับการพัฒนาด้านนวัตกรรมก็จะนำไปแสดงผลงานเพื่อส่งเสริมตลาดในงาน World Tapioca Conference 2023 ในเดือนมกราคมปีหน้านี้อีกด้วย

หวังว่าอนาคตจะสามารถส่งออกไบโอพลาสติกจากมันสำปะหลังให้ได้ 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งอินเดียจะเป็นตลาดใหญ่ เพราะมีนโยบาย “plastic ban” จะไม่ใช้ถุงพลาสติกจากปิโตรเคมี จะหันมาใช้ถุงจากไบโอพลาสติก

ปัจจุบันราคามันสำปะหลังดีขึ้นมาก ในอดีตกิโลกรัมละ 1 บาทกว่า วันนี้กิโลกรัมละ 3 บาทกว่าแล้ว เกินรายได้ที่มีการประกันราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ผลผลิตในประเทศเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ยังไม่พอ โดยผลผลิตในประเทศปีละประมาณ 35 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้ 42 ล้านตัน ยังขาด 6-7 ล้านตันในภาพรวม แต่ช่วงที่มันสำปะหลังออกเยอะราคาก็ตก การเตรียมการด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จะช่วยให้ราคามันสำหรับเกษตรกรในประเทศมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน

สำหรับนโยบายที่ตนมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกรในช่วงที่ผ่านมาคือ ขยายตลาดโดยเฉพาะในต่างประเทศ ไม่ว่าจะในรูปมันเส้น แป้งมัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ รวมทั้งการขยายตลาดใหม่ ซึ่งสำเร็จในหลายตลาด ไม่ว่าจะเป็นตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย หรือฟิลิปปินส์ เพื่อทดแทนตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่แต่ไม่มีเสถียรภาพ

ล่าสุด ประเทศฟิลิปปินส์กำลังเดินทางมาเจรจารอบสุดท้าย ซื้อมันสำปะหลังประมาณ 3-4 ล้านตัน จะเป็นการช่วยยกระดับราคาในประเทศให้สูงขึ้น

สำหรับเดือนมกราคม 2566 ตนจะไปประชุมที่นครราชสีมา เพราะเป็นเมืองหลวงของมันสำปะหลังของประเทศ เรามีกำหนดการจัดงาน World Tapioca Conference 2023 ในเดือนมกราคมปีหน้า จะเป็นอีกงานที่ส่งเสริมภาพลักษณ์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง โดยในปี 65 นี้ ตั้งเป้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทุกรูปแบบ มูลค่า 130,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%

และสำหรับไบโอพลาสติก เป็นอีกนโยบายที่เราต้องช่วยกันปรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนอกจากแบบดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์จากไบโอพลาสติกจะเป็นอีกช่องทางนำเงินเข้าประเทศ ปัจจุบันเราเน้นการส่งออกมันสำปะหลัง และส่งออกไบโอพลาสติกเม็ด เพื่อไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อ คือผลิตภัณฑ์ขั้นต้นและขั้นกลาง ต่อไปนี้เราจะเน้นผลิตภัณฑ์ขั้นปลายมากขึ้น แทนที่จะส่งแบบเม็ดก็จะส่งเป็นถุงพลาสติก หลอดดูด จาน สินค้าต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบจากไบโอพลาสติก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) และสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังแบบครบวงจร ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรทั้ง 11 หน่วยงาน

ประกอบด้วย
(1) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
(2) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.)
(3) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
(4) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
(5) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
(6) สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย
(7) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย
(8) สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย
(9) บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จํากัด
(10) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และ
(11) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จํากัด (มหาชน)

ที่มา : ประชาติธุรกิจ

​“จุรินทร์”เคาะเดินหน้าประกันรายได้มัน ปี 4 พร้อม 3 มาตรการเสริมช่วยชาวไร่-ดันราคา

​“จุรินทร์”เคาะเดินหน้าประกันรายได้มัน ปี 4 พร้อม 3 มาตรการเสริมช่วยชาวไร่-ดันราคา

“จุรินทร์”ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ไฟเขียวประกันรายได้มันสำปะหลัง ปี 4 คงเงื่อนไขเดิมประกันราคา 2.50 บาทต่อกิโลกรัม จ่ายเงินส่วนต่าง 12 งวด เคาะมาตรการเสริม ช่วยดอกเบี้ย 3% ให้เกษตรกรกู้ปลูกมัน ให้สถาบันเกษตรกรเก็บสต๊อก และลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอล ซื้อไปแปรรูปและเก็บสต๊อก พร้อมตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด เดินหน้ายุทธศาสตร์มัน ดันผลผลิตต่อไร่ ผลักดันขายในประเทศและส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 4 ต่อไป โดยเงื่อนไขเหมือนกับ 3 ปีที่ผ่านมาทุกประการ คือ ประกันรายได้กิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค.-1 พ.ย.2566 จ่ายเงินส่วนต่าง 12 งวด หากราคาต่ำกว่าที่ประกันรายได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ต้องจ่าย เพราะราคา 3 บาทกว่า เกินที่ประกันรายได้ กก.ละ 25.0 บาทเป็นปีแล้ว โดยตั้งงบประมาณไว้ 4,743.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนาน เพื่อช่วยผลักดันราคา โดย 1.ช่วยดอกเบี้ย 3% กับเกษตรกรรายย่อย เพื่อกู้ไปใช้ในการปลูกมันสำปะหลังตั้งงบไว้ 41.4 ล้านบาท 2.ช่วยดอกเบี้ยสถาบันเกษตรกรที่เก็บสต๊อกมันสำปะหลังไว้ในช่วงที่มันออกเยอะ จะได้ไม่ทำให้ราคาตกตั้งงบไว้ 15 ล้านบาท 3.ช่วยดอกเบี้ย 3% ให้กับลานมัน โรงแป้งหรือโรงงานผลิตเอทานอล ในการนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น แป้งมันหรือเอทานอล และเก็บสต๊อกไว้ 3-6 เดือน ตั้งวงเงิน 225 ล้านบาท ถ้าจำเป็นจะเพิ่มวงเงินให้อีกในอนาคต ใช้งบประมาณรวมกัน 291.4 ล้านบาท รวมประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานเป็นเงิน 5,035.3 ล้านบาท ซึ่งจากนี้จะได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วต่อไป

นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังได้มีการติดตามการเดินหน้าให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง ปี 2564-67 โดยมีมติให้ตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรมขึ้น คือ 1.อนุกรรมการด้านการผลิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตั้งเป้าปี 2567 จะต้องได้ผลผลิตต่อไร่ไม่น้อยกว่า 5 ตัน ปัจจุบันทำได้เพียง 3.48 ตันต่อไร่ 2.ตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศขึ้น ขณะนี้ตลาดต่างประเทศถือว่าทำได้ทะลุเป้า เพราะเป้าตั้งไว้ว่าจะต้องเพิ่มขึ้น 3% แต่ทำได้ถึง 7% ส่วนตลาดในประเทศตั้งเป้าว่าราคาจะได้ไม่ต่ำกว่า 2.50 บาท แต่ขณะนี้ราคาอยู่ที่ 3.15 บาท

นอกจากนี้ มีข่าวดีสำหรับตลาดส่งออกมันสำปะหลัง โดยขณะนี้ทูตพาณิชย์ประจำฟิลิปปินส์ได้ประสานผู้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต้องการนำเข้ามันสำปะหลัง จำนวน 37 บริษัท มาเจรจากับผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย ซึ่งได้พบกัน ช่วงวันที่ 9 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว ได้มอบหมายให้นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบบริหารจัดการเรื่องนี้ให้เกิดผลซื้อขายได้โดยเร็วที่สุด เพราะทั้งหมดนี้ จะมีผลในการช่วยยกระดับราคามันสำปะหลังให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังปีนี้ คาดการณ์ว่าผลผลิตจะอยู่ที่ 35.8 ล้านตัน หรืออาจต่ำกว่านี้ ซึ่งมีปริมาณความต้องการ 42.5 ล้านตัน สูงกว่าปริมาณการผลิตเช่นเดียวกับปีที่แล้ว และปัจจุบันราคาหัวมันสดสูงขึ้นมาก ตลอดปีที่ผ่านมาอยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.15 บาท เพิ่มขึ้น 23% มันเส้น กิโลกรัมละ 9.20 บาท เพิ่ม 21.8% แป้งมัน กิโลกรัมละ 17.10 บาท เพิ่ม 21%

ส่วนตัวเลขการส่งออก 7 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) สามารถส่งออกได้แล้ว 22 ล้านตัน เพิ่ม 14% เนื่องจากปริมาณไม่พอ จึงจำเป็นต้องนำเข้าส่วนนึง นำเข้ามาแล้ว 7 ล้านตัน สำหรับตลาดส่งออกของไทยที่ใหญ่ที่สุดคือ จีน 69% ญี่ปุ่น 8% อินโดนีเซีย 3% เกาหลี 2% เป็นมันเส้นประมาณ 40% แป้งมัน 60%

ที่มา : Commerce News Agency (CNA)

“รง. ผลิตแอลกอฮอล์-วัตถุดิบอาหารสัตว์” ในจีน เปิดศึกแย่งมันสำปะหลัง

“รง. ผลิตแอลกอฮอล์-วัตถุดิบอาหารสัตว์” ในจีน เปิดศึกแย่งมันสำปะหลัง

มันสำปะหลังไทยขายดี ครึ่งแรกส่งออก 6.7 ล้านตัน มูลค่ากว่า 8.2 หมื่นล้าน รับส้มหล่นผลพวงสงครามทำธัญพืชโลกขาดแคลน รง.ผลิตแอลกอฮอล์-วัตถุดิบอาหารสัตว์ ในจีน เปิดศึกแย่งวัตถุดิบ ดันราคาพุ่ง ประกันรายได้มันฯ ปี 3 เหลือ 3 งวดสุดท้าย ชาวไร่เล็งขอราคาใหม่ 2 .75 บาท จากต้นทุนเพิ่ม

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานผลผลิตมันสำปะหลังปี 2565 ที่เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-กันยายน 2565 คาดมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 10.179 ล้านไร่ ผลผลิต 34.691 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3.408 ตัน เทียบกับปี 2564 ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 10.406 ล้านไร่ ผลผลิต 35.094 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3.372 ตัน ล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม พบว่า พื้นที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตลดลงร้อยละ 2.18 และร้อยละ 1.15 ตามลำดับ

แต่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 โดยเดือนสิงหาคม 2565 คาดจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 1.11 ล้านตัน (ร้อยละ 3.20 ของผลผลิตทั้งหมด) เป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว หัวมันสำปะหลังออกสู่ตลาดน้อย สำหรับโรงงานแป้งมันสำปะหลังเป็นช่วงการปิดเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร

นางสุรีย์ ยอดประจง กรรมการที่ปรึกษา สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของโลก โดยเฉพาะตลาดจีนจากเดิมที่มีความต้องการมันเส้น เพื่อนำไปผลิตผลิตแอลกอฮอล์สูงอยู่แล้ว ล่าสุดจากโรงงานอาหารสัตว์ที่กลับมาฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้มีความต้องการวัตถุดิบเพิ่ม มองว่ามันสำปะหลังไทยเวลานี้ไม่มีปัญหา

ทั้งนี้แม้กระทั่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิดก็ยังขายได้ พอมาเจอ 2 แรงบวกข้างต้น ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดย 6 เดือนแรกของปีนี้ส่งออกแล้ว 6.7 ล้านตัน มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งออกได้ 5.4 ล้านตัน มูลค่า 6.08 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 23% และ 36% ตามลำดับ

“รง. ผลิตแอลกอฮอล์-วัตถุดิบอาหารสัตว์” ในจีน เปิดศึกแย่งมันสำปะหลัง

ในส่วนของมันเส้นส่งออกได้ดีมาก ส่วนแป้งมันสำปะหลังชะลอตัวลงเล็กน้อย หลังขยายตัวต่อเนื่องช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีอุปสรรคเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือสูงตามต้นทุนพลังงานที่ปรับเพิ่ม อย่างไรก็ดีภาพรวมการส่งออกไปยังจีนและประเทศอื่น ๆ กลับมาขยายตัวดีขึ้น

ด้านนายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวถึง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 ว่า รัฐบาลได้เคาะประกันรายได้ตั้งแต่งวดที่ 1 วันที่ 29 พ.ย. 2564 จนถึงงวด 9 วันที่ 25 ก.ค. 2565 ซึ่งปีนี้ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน(ราคาประกัน 2.50 บาท ต่อ กก.) รัฐไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง เวลานี้เหลืออีก 3 งวดสุดท้าย โดยจะไปจบงวดที่ 12 ในวันที่ 1 พ.ย. 65 ทั้งนี้ทางสมาคมฯจะร้องขอปรับราคาประกันเพิ่มเป็น 2.75 บาทต่อกิโลกรัม จากต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้นทั้งค่าปุ๋ย ค่านํ้ามัน ซึ่งความจริงไม่อยากได้ เพราะปีหน้าแนวโน้มราคามันฯดีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องป้องกันไว้เพราะราคาอาจผันผวน

“ประกันรายได้พืช 4 แสนล้านบาทช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลก็มีประโยชน์บ้าง แต่ถามว่าผลผลิตของชาวไร่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็ไม่ได้เพิ่ม แทนที่จะนำเงินมาแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังหรือให้มาซื้อท่อนพันธุ์มันสำปะหลังใหม่ คิดค้น วิจัย ให้ต้านทานโรคใบด่าง ซึ่งกำลังระบาดทั่วประเทศในเวลานี้ก็ไม่มีใครสนใจ เรื่องที่จะทำก็ไม่ทำ”

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย เผยราคาหัวมัน (แป้ง 25%) ณ โรงงาน (นครราชสีมา) 17 ส.ค. 65 อยู่ที่ 2.80-3.55 บาทต่อกก., หัวมัน ณ ลานมัน 1.60-2.70 บาทต่อกก. และมันเส้น 8.80-8.90 บาทต่อ กก. ราคามันเส้น ส่งมอบจีน (เอฟ.โอ.บี.เกาะสีชัง) 270-280 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน, แป้งมันสำปะหลัง ซุปเปอร์-ไฮเกรด (เอฟ.โอ.บี.เกาะสีชัง) 520-525 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เวลานี้โรงงานแป้งมันบางแห่งหยุดผลิต จากวัตถุดิบไม่เพียงพอ หรือคุณภาพหัวมันไม่ดี มีสิ่งเจือปน เปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งเฉลี่ยประมาณ 20-30% ส่วนราคาแป้งมันส่งออก เอฟ.โอ.บี. กรุงเทพฯ 520-525 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษกิจ

พาณิชย์ คาดปี 65 ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแนวโน้มสดใส ทำนิวไฮในรอบ 15 ปี

พาณิชย์ คาดปี 65 ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแนวโน้มสดใส ทำนิวไฮในรอบ 15 ปี

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้ประชุมหารือร่วมกับ 4 สมาคมมันสำปะหลัง คือ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้คาดการณ์จากฤดูกาลผลิตปี 64/65 ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ว่า ราคามันสำปะหลังจะพุ่งสูงต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณความต้องการจากผู้ซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทั่วโลกเพิ่มปริมาณสำรองธัญพืชเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และพลังงาน มีความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังทดแทนเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีน ยังคงสั่งซื้อมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์และอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งราคาอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอ และราคามันสำปะหลังยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนก.ค.65 หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.15 บาท เพิ่มขึ้น 31.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในส่วนของการส่งออกมันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของ 65 (ม.ค.-มิ.ย.) ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบ แป้งแปรรูป และอื่นๆ (กากมัน และสาคู) ปริมาณ 6,753,931 ตัน มูลค่า 82,795 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มขึ้น 35.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายพิทักษ์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ 4 สมาคมข้างต้น คาดการณ์ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบ แป้งแปรรูป) ปี 65 ทั้งปีจะเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 64 คิดเป็นปริมาณรวม 11 ล้านตัน มูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (130,000 ล้านบาท)

“ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 65 คาดว่าจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นปริมาณ 4.25 ล้านตัน มูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (47,000 ล้านบาท) โดยส่งออกมันเส้นและแป้งมันได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปีทองของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย ที่คาดว่าจะสามารถทำนิวไฮสูงสุดในรอบ 15 ปี” นายพิทักษ์ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ เช่น ตุรกี นิวซีแลนด์ ซาอุดีอาระเบีย และจีนตอนใต้ เป็นต้น ยังคงสนใจสั่งซื้อมันสำปะหลังของไทยทดแทนธัญพืชที่มีราคาสูง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงขอให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับปริมาณสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้ซื้อว่าไทยสามารถจัดหาวัตถุดิบมันสำปะหลังให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ตลอดจนสร้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์

ส่งออกมันสำปะหลังไทย 4 เดือนแรกพุ่ง 28%

ส่งออกมันสำปะหลังไทย 4 เดือนแรกพุ่ง 28%

ส่งออกมันสำปะหลังไทย 4 เดือนแรกพุ่ง 28% อานิสงส์สงครามรัสเซียดันความต้องการเพิ่ม ผู้ซื้อหันมานำเข้ามันสำปะหลังจากไทยทดแทนธัญพืชอื่นๆ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ความต้องการจากผู้ซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทั่วโลกเพิ่มปริมาณสำรองธัญพืชเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และพลังงานมีความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังทดแทนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอและราคามันสำปะหลังสูงขึ้น

โดยเดือนพฤษภาคม 2565 หัวมันสดเชื้อแป้ง 25 % ราคาอยู่ที่ 3.03 บาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 20.79% ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออกมันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยในปี 2565 (ม.ค. – เม.ย.) ไทยส่งออกมันสำปะหลังในรูปของมันเส้น

มันอัดเม็ด แป้งดิบ แป้งแปรรูป และอื่นๆ (กากมัน และสาคู) ปริมาณรวม 4,602,475.21 ตัน มูลค่า 54,886.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.23% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน (69%) ญี่ปุ่น (8%) อินโดนีเซีย (3%) เกาหลีใต้ (2%) และประเทศอื่นๆ (18%)

ส่งออกมันสำปะหลังไทย4 เดือนแรกพุ่ง28%

“ผู้ซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ตุรกี นิวซีแลนด์ และจีนตอนใต้ เป็นต้น ยังคงสนใจสั่งซื้อมันสำปะหลังของไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ราคามันสำปะหลังทั้งระบบเป็นไปตามกลไกตลาดและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อว่าไทยสามารถส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง”

ส่งออกมันสำปะหลังไทย4 เดือนแรกพุ่ง28%

อย่างไรก็ดีพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรเร่งขุดมันสำปะหลังที่อายุไม่ถึง 8 เดือน ออกมาจำหน่ายมากขึ้น เนื่องจากราคาจูงใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับคุณภาพของผลผลิตโดยเฉพาะเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งต่ำ จึงขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรอย่าเร่งขุดมันสำปะหลังก่อนครบอายุเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตและท่อนพันธุ์ที่ดีสำหรับปีการผลิตถัดไป มีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ส่งออกมันสำปะหลังไทย4 เดือนแรกพุ่ง28%

อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก กรมเร่งขยายตลาดในต่างประเทศโดยมุ่งเน้นตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาเพียงตลาดเดียว เช่น ตุรกี นิวซีแลนด์ จีนตอนใต้ และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น โดยเฉพาะการส่งออกมันเส้นไปจีนตอนใต้จนถึงปัจจุบันสร้างมูลค่าส่งออกได้แล้วกว่า 9,900ล้านบาท ด้านการตลาดในประเทศ ดำเนินกิจกรรมสร้างหลักประกันให้เกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้ กำกับดูแลปัจจัยการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ราคาเหมาะสม

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

“จุรินทร์”ไฟเขียวแผนแก้โรคใบด่างมัน ช่วยเกษตรกร 1.2 แสนรายรับชดเชยประกันรายได้

“จุรินทร์”ไฟเขียวแผนแก้โรคใบด่างมัน ช่วยเกษตรกร 1.2 แสนรายรับชดเชยประกันรายได้

“จุรินทร์”ประชุม นบมส. ไฟเขียวแผนจัดการโรคใบด่างในมันสำปะหลัง 5 ปี เริ่มปี 66-70 จำนวน 6 มาตรการ ใช้งบ 474 ล้านบาท พร้อมมอบกรมวิชาการเกษตร ของบกลางจาก ครม. 25 ล้านบาท ทำวิจัยให้ต้นมันสำปะหลังแข็งแรง สู้โรค ลดความสูญเสีย เผยยังได้ช่วยเกษตรกรมันสำปะหลังตกค้าง 1.2 แสนราย ให้ได้รับชดเชยในโครงการประกันรายได้ วงเงิน 1,191 ล้านบาท ส่วนปัญหาส่งออกติดขัดที่ด่านจีน แก้จบแล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการจัดการกับโรคใบด่าง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-70 ต่อเนื่องจากแผนเดิมที่จะจบในเดือนมี.ค.2565 ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่ 1.การสร้างการรับรู้เรื่องโรคใบด่าง 2.เฝ้าระวังและป้องกัน 3.ควบคุมการระบาด 4.ให้ความช่วยเหลือ 5.การทำวิจัยพัฒนา และ 6.มาตรการติดตามประเมินผล รวม 10 โครงการ ใช้งบประมาณ 474 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีมติเพิ่มเติมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำวิจัยพัฒนากรรมวิธีทำให้ต้นมันสำปะหลังแข็งแรง ทันต่อโรคใบด่าง ลดความสูญเสียทั้งต่อเกษตรกรและงบประมาณแผ่นดินในการกำจัดต้นมันสำปะหลังที่ติดโรคในอนาคต โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ของบกลาง 25 ล้านบาท เร่งสนับสนุนการวิจัยให้จบ มอบให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการเป็นเจ้าของเรื่องร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิ์รับเงินส่วนต่าง จำนวน 1.2 แสนราย ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ใช้งบประมาณจ่ายเงินส่วนต่าง 1,191 ล้านบาท

สำหรับกรณีปัญหาผู้ประกอบการร้องทุกข์ว่ามีรถบรรทุกมันสำปะหลังไทยที่ส่งออกไปประเทศจีน ติดที่ด่านจีนเกือบ 100 คัน เพราะจีนกำหนดมาตรการเร่งด่วนให้มีเอกสารขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกล่วงหน้า แต่เนื่องจากประกาศกระทันหัน ทำให้มีรถค้างที่ด่าน ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ทัน ทูตพาณิชย์และทูตเกษตรได้เจรจาจนประสบความสำเร็จสามารถข้ามแดนได้แล้วเกือบทั้งหมด คาดว่าปีนี้การส่งออกมันสำปะหลังของไทยจะยังสามารถทำตัวเลขได้ดีและนำเงินเข้าประเทศได้เป็น 100,000 ล้านบาทดังเดิม

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการประเมินสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลัง ปี 2564/65 พบว่า ทั่วโลกจะมีการผลิตหัวมันสด ประมาณ 302 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.21% ผลผลิตมันของไทย ลดลง 1% โดยไทยมีความต้องการหัวมันสดประมาณ 12.7 ล้านตัน ส่งออกประมาณ 29.7 ล้านตัน ตลาดใหญ่สุดของมันสำปะหลังไทย คือ จีน ประมาณ 70% ญี่ปุ่น 8% อินโดนิเซีย 3% เกาหลีใต้ 2% ตัวเลขการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี 2564 ส่งออก 34.88 ล้านตัน มูลค่า 123,209 ล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 14 ปี และจากปี 2564 ถึงปัจจุบัน ราคาอยู่ในระดับราคาดีโดยต่อเนื่อง ปัจจุบัน 2.50-2.60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และคาดว่าจะดีโดยต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับรายได้ที่ประกันและสูงกว่าในหลายช่วง เนื่องจากจีนยังมีความต้องการใช้มันสำปะหลังผลิตเอทานอล

ที่มา : Commerce News Agency