“โรคใบด่างมัน”ลามหนัก 4 สมาคมโร่พบ”เฉลิมชัย”

“โรคใบด่างมัน”ลามหนัก 4 สมาคมโร่พบ”เฉลิมชัย”

4 สมาคมมันสำปะหลังยกขบวนเข้าพบ รมว.เกษตรฯ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หลังชาวไร่มันสำปะหลังอ่วม ผลผลิตมันเสียหายหนักจากภัยแล้ง-การระบาดของโรคไวรัสใบด่าง (CMD) แพร่ไปกับท่อนพันธุ์มันส่งผ่านบริการโลจิสติกส์ชื่อดังจากเสิงสาง/ครบุรี ส่งข้ามภาคไปถึงชลบุรี เตรียมงัดประกาศ กกร. เข้มขนย้ายทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงาน 4 สมาคมมันสำปะหลัง ประกอบด้วย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย-สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย-สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย-สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งสถานการณ์ผลผลิตหัวมันสดกำลังตกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงจากสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งดำเนินไปอย่างรุนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ฤดูแล้งของปี 2561 กระทั่งถึง 2562 ฝนตกน้อยมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับปัญหาโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง (CMD) ที่ระบาดจากกัมพูชาเข้าในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอย่างกว้างขวาง คาดว่าผลผลิตปี 2561/2562 จะลดลงอย่างแน่นอน

“สถานการณ์ทั้ง 2 ดำเนินไปอย่างควบคู่กัน การระบาดของโรคใบด่างในปีที่ผ่านมาถูกตรวจพบที่ จ.รัตนคีรีในเขมร แล้วแพร่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดสระแก้วแนวชายแดนติดเขมร เราพยายามจำกัดพื้นที่การระบาด แต่ประกอบกับมีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นชาวไร่มันปลูกมันไปแล้ว 2-3 รอบเสียหายหมดก็เริ่มต้นปลูกกันใหม่อีก ส่งผลให้เกิดความต้องการท่อนพันธุ์มันมากขึ้นเป็นพิเศษ ราคาท่อนพันธุ์ปีนี้สูงถึง 2-3 บาท/ท่อน แถมไม่มีของด้วยใครมีท่อนพันธุ์ก็รีบนำออกมาขาย ไม่ตรวจสอบว่าท่อนพันธุ์นั้นติดโรคหรือไม่ ก็เลยระบาดกันใหญ่”

สถานการณ์ระบาดล่าสุดพบที่ จ.สระแก้ว ไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่จ.นครราชสีมาใน อ.เสิงสาง-ครบุรี อีกไม่น้อยกว่า 6,000 ไร่ และขยายวงออกสู่จังหวัดข้างเคียงผ่านการซื้อขายท่อนพันธุ์มัน โดยสมาคมมันสำปะหลังเชื่อว่ามีการระบาดของโรคใบด่างในประเทศประมาณ 100,000 ไร่ไปแล้ว

ทั้งนี้ โรค CMD เกิดจากเชื้อไวรัส SLCMV หรือ Sri Lankan Cassava Mosaic Virus ทำให้ใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง ลดรูปและยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาการใบเหลือง ลำต้นแคระแกร็น

ผลผลิตมันสำปะหลังเสียหาย 80-100% พาหะนำโรคเป็นแมลงหวี่ขาวยาสูบ ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้หลังจากนี้ทั้ง 4 สมาคมมันสำปะหลังจะออกสำรวจผลผลิตมันสำปะหลังปี 2562/2563 ในเดือนสิงหาคมนี้ ในพื้นที่ภาคเหนือ (ลำปาง-ลำพูน-แพร่-พะเยา-เชียงราย) ซึ่งแม้โรคนี้ยังระบาดไปไม่ถึง แต่เสียหายจากภัยแล้ง ชาวไร่เชียงรายต้องขุดทิ้งและปลูกใหม่แล้ว 2-3 รอบก็เสียหายอีกจากขาดน้ำและไม่มีฝนตก

“ผลผลิตมันสำปะหลังปีที่ผ่านมา (2561/2562) มีปริมาณ 29,974,636 ตัน ซึ่งผลผลิตปีนี้คงไม่ถึง สำหรับราคารับซื้อหัวมันสดอยู่ที่ 2.30-2.50 บาท/กก. มันเส้น 6.50-6.65 บาท/กก. แต่ไม่มีของเพราะเสียหายหนักต้องรอไปจนถึงเดือนธันวาคม” แหล่งข่าวกล่าว

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงขณะนี้มีพื้นที่ระบาดแล้ว 18,000 ไร่ ล่าสุดเริ่มพบที่จังหวัดชลบุรีอีก 53 ไร่ มาจากท่อนพันธุ์มันที่ชาวไร่สั่งซื้อจาก อ.เสิงสาง-ครบุรี ผ่านบริการ “เคอรี่ โลจิสติกส์” ดังนั้น ขอให้ชาวไร่ที่สั่งซื้อท่อนพันธุ์ต้องตรวจสอบให้ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าปลอดโรค

ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯพยายาม “จำกัด” พื้นที่ระบาด โดยใช้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฉบับที่ 8/2561 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาต การอนุญาต แบบหนังสืออนุญาตและวิธีการขนย้ายหัวมันสำปะหลังสดและมันเส้นกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ธปท.ปรับเกณฑ์คุมบัญชีเงินฝาก-บอนด์ของต่างชาติ สกัดเก็งกำไรเงินบาท

ธปท.ปรับเกณฑ์คุมบัญชีเงินฝาก-บอนด์ของต่างชาติ สกัดเก็งกำไรเงินบาท

ธปท. ห่วงเงินบาทแข็งค่าเร็วกระทบภาคเศรษฐกิจ ออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ทั้ง ปรับเกณฑ์ยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศทั้ง NRBS และ NRBA ลดลงเหลือ 200 ลบ./บัญชี จาก 300 ลบ.ป้องการการพักเงิน เริ่ม 22 ก.ค.นี้ พร้อมยกระดับการรายงานข้อมูลตราสารหนี้ไทยของต่างชาติให้ลึกถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริงเริ่มงวดก.ค.นี้

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าภาวะตลาดการเงินโลกปัจจุบันมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางหลายแห่ง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับมายังกลุ่มประเทศเกิดใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองเงินบาทและลงทุนในหลักทรัพย์ไทยมากขึ้นในระยะหลัง รวมทั้งบางส่วนอาจใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น

ธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และมีความกังวลกับค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วและแข็งค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค จนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อลดทอนช่องทางในการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) การปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident : NR) ทั้ง Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) และบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA) ให้เข้มขึ้น โดยบัญชี NRBS คือบัญชีเงินบาทของ Non-resident (NR) ที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน และบัญชี NRBA คือบัญชีที่เปิดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั่วไป เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ดี บัญชีเงินบาทข้างต้นในบางครั้งถูกใช้เป็นช่องทางพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อลดช่องทางดังกล่าว ธปท. จึงปรับเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBS และ NRBA ให้ลดลง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย NR ต่อประเภทบัญชี โดยกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป กรณีบัญชีที่มียอดคงค้างเกินกว่า 200 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินดำเนินการให้ NR เจ้าของบัญชีปรับลดยอดคงค้างภายในกำหนดเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ NR ซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินและไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ที่มีการค้าการลงทุนกับคู่ค้าในประเทศไทยและมีการชำระหรือรับชำระกับคู่ค้าเป็นสกุลบาท สามารถยื่นขออนุญาต ธปท. เพื่อขอผ่อนผันยอดคงค้างในบัญชี NRBA ได้เป็นรายกรณี โดย ธปท. จะพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม

2) การยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners) เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่พักเงินระยะสั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มและกำหนดนโยบายหรือมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ กำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการที่เตรียมไว้เพิ่มเติม หากยังพบพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินบาทในระยะต่อไป

ที่มา : สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

สั่งเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ ลุยสแกนแปลงปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ 100%

สั่งเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ ลุยสแกนแปลงปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ 100%

สั่งเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ ลุยสแกนแปลงปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ 100% ภายใน 15 ก.ค.นี้

หลังพบการรายงานการพบโรคใบด่างมันสำปะหลัง (CMD) กำลังระบาดในขณะนี้ ได้สั่งการให้ เกษตรจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ที่มีอยู่ ประมาณ 8.9 ล้านไร่ และ แนวชายแดนโดยเฉพาะจังหวัด สระแก้ว นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ จันทบุรี ปราจีนบุรี จัดทีมเจ้าหน้าที่เกษตร และร่วมกับเกษตรกร ลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงปลูกมันสำปะหลัง ทั่วประเทศ ทุกต้น และรายงานให้กรมฯ ทราบ ภายใน 15 ก.ค. 2562 นี้

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่มีรายงานการพบโรคใบด่างมันสำปะหลังในหลายจังหวัด ดังนั้นเพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้กระจายไปยังพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอื่นๆ จึงได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรทุกจังหวัด ที่มีแปลงปลูกมันสำปะหลัง ที่มีพื้นที่ปลูกประมาณ 8.9 ล้านไร่ เฝ้าติดตามการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยจัดทีมลงพื้นที่สำรวจทุกต้น และรายงานให้กรมฯ

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือให้เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ตรวจสอบแปลงของตัวเอง หากพบ ลักษณะอาการ หากพบอาการ ใบเป็นด่าง เหลือง เสียรูปทรง ลดรูป และยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาหารด่างเหลือง ลำต้นแคระแกร็น เบื้องต้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่เข้าไปทำลายทันที นอกจากนี้ กำชับให้ทุกจังหวัด เตือนเกษตรกรห้ามเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจน

สำหรับ โรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นโรคที่เพิ่งพบการระบาดในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ การป้องกันโรคใบด่างมันสำปะหลัง

1. เกษตรกรควรใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะห+ลังจากต้นที่ไม่เป็นโรคใบด่างมาปลูก ควรใช้ท่อนพันธุ์ภายในประเทศ ไม่นำท่อนพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาปลูก เพราะอาจเสี่ยงต่อการนำเอาท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัสเข้ามาปลูก

2. เกษตรกรควรหมั่นเดินตรวจแปลงตั้งแต่เริ่มปลูกทุกๆ 2 สัปดาห์ หากพบอาการที่ผิดปกติสงสัยว่าจะเป็นโรคใบด่าง เช่น ใบหงิก ใบด่าง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร หรือกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้มาตรวจสอบและทำลาย หลังจากนั้นเกษตรกรควรฉีด พ่นสารเคมีต้นที่เหลือในแปลงและแปลงข้างเคียงเพื่อทำลายแมลงหวี่ขาวยาสูบที่เป็นพาหะของโรค ติดตามการเกิดโรคใบด่างในแปลงอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์

3. หากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือพบอาการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถแจ้งได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

“พาณิชย์” เตรียมแผนทำโครงการ “ประกันรายได้” 4 สินค้าเกษตร ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง

“พาณิชย์” เตรียมแผนทำโครงการ “ประกันรายได้” 4 สินค้าเกษตร ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง

กรมการค้าภายในเผยเตรียมข้อมูลและแนวทางทำ “ประกันรายได้” พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังพร้อมแล้ว รอชง “จุรินทร์” ว่าที่รมว.พาณิชย์คนใหม่ พร้อมแนวทางขับเคลื่อนที่เหมาะสม ทั้งการกำหนดพื้นที่ ปริมาณผลผลิตของเกษตรกรแต่ละราย และการเน้นช่วยรายย่อย ไม่ใช่ช่วยแบบหว่านแห

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำรายละเอียดและแนวทางการดำเนินโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรเสร็จแล้ว และพร้อมเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ว่าที่รมว.พาณิชย์คนใหม่พิจารณาภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง หากรัฐบาลชุดใหม่ จะดำเนินโครงการประกันรายได้ ตามนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยได้จัดทำรายละเอียดการรับประกันรายได้พืชเศรษฐกิจสำคัญ 4 ชนิดที่กระทรวงพาณิชย์ดูแล ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง

“ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ จะทำประกันรายได้ กรมฯ ก็พร้อมเสนอให้รมว.พาณิชย์คนใหม่พิจารณา โดยได้เตรียมข้อมูล และวิธีการทำโครงการไว้หมดแล้ว อย่างวิธีการคำนวณราคากลาง หรือราคาอ้างอิง เพื่อจะนำมาคำนวณจำนวนเงินที่รัฐจะชดเชยรายได้ให้เกษตรกร การลงทะเบียนเกษตรกร เพื่อยืนยันความมีตัวตน เป็นต้น และยังจะเสนอให้ใช้วิธีการทำเหมือนที่เคยทำมาแล้ว เช่น กำหนดพื้นที่ หรือปริมาณสินค้าเกษตรของเกษตรกรแต่ละราย ไม่ใช่ช่วยเหลือทุกราย แต่จะเน้นเฉพาะรายย่อย ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เพื่อไม่ให้เห็นภาระกับรัฐบาลมากเกินไป”

สำหรับการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ควรกำหนดพื้นที่ไว้ที่ 15-30 ไร่ต่อรายเหมือนที่ผ่านมา ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย หรือไม่เกิน 15 ตัน ขณะที่มันสำปะหลัง ไม่เกิน 100 ตันต่อราย แต่ปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่เคยประกันรายได้ จึงยังไม่ชัดเจนว่า จะกำหนดพื้นที่ หรือปริมาณผลผลิตเท่าไร โดยจำนวนพื้นที่และปริมาณสินค้าเกษตรที่จะช่วยเหลือเกษตรกรแต่ละรายดังกล่าว เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นของกรมฯ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สินค้าเกษตรกรบางรายการ ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการพยุงราคา หรือการประกันรายได้ เพราะราคาตลาดอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกหอมมะลิ เช่นเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ปัจจุบันกิโลกรัม (กก.) ละประมาณ 8 บาทกว่า แต่หากราคาลดลง รัฐจะเข้าไปช่วยพยุงราคา เพื่อไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อน ส่วนปาล์มน้ำมัน ยังน่าเป็นห่วง เพราะแม้ราคาขยับขึ้น โดยผลปาล์มสดกก.ละใกล้เคียง 4 บาท และน้ำมันปาล์มดิบ กก.ประมาณ 20 บาทแล้ว แต่ราคายังไม่แน่นอน เพราะราคาในตลาดโลกลดลง ขณะที่มันสำปะหลัง เป็นห่วงเรื่องโรคใบด่างระบาด ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันแก้ปัญหาการระบาดอย่างเร่งด่วนแล้ว

ที่มา : Commerce News Agency

พยุงรายได้แสนล้าน!! คต.ลงพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังสระแก้ว กำชับต้องปลอดโรคใบด่าง-สะอาด

พยุงรายได้แสนล้าน!! คต.ลงพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังสระแก้ว กำชับต้องปลอดโรคใบด่าง-สะอาด

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมจะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การเชื่อมโยงตลาดมันเส้นสะอาดระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้มันเส้นสะอาด” วันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ที่เดอะ เวโล โฮเต็ล แอนด์ ปั๊มแทรค อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตมันสำปะหลังเป็นมันเส้นสะอาด ยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง รวมถึงระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเชื่อมโยงตลาดมันเส้นสะอาดระหว่างเกษตรกรกับผู้ใช้ รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการโรคใบด่างมันสำปะหลัง พร้อมให้คำแนะนำในการควบคุมและแนวทางแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกร รวมทั้งเตรียมความพร้อมและให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสอดส่อง ควบคุมดูแลและป้องกันโรคใบด่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“จะเป็นเวทีที่หน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการร่วมกันจัดสัมมนาเชื่อมโยงตลาดเพื่อให้ผู้ผลิต ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ผู้ประกอบการลานมันและประชาชนที่สนใจได้พบปะหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้รับซื้อผลผลิต เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการพัฒนาตลาดมันเส้นสะอาด ยกระดับมาตรฐานการผลิตมันเส้นให้มีคุณภาพดี เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการจากทั่วโลก ทั้งนี้ มันเส้นสะอาดเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ตลาดต้องการสูงมาก เนื่องจากเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งสูง อัตราแปรสภาพดี เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายวันชัย กล่าว

“มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละแสนล้านบาทสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายล้านครัวเรือนไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ของโลก“ นายวันชัย กล่าว

นายวันชัยกล่าวว่า ในปี 2561 ไทยส่งออกปริมาณรวม 8.27 ล้านตัน ลดลง 26.14% มูลค่ารวม 3,106.17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับ 4 เดือนแรกปี 2562 ส่งออกปริมาณรวม 2.94 ล้านตัน ลดลง 18.96% มูลค่ารวม 1,077.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกมันเส้น ได้แก่ จีน (99.98%) และอื่นๆ เช่น สเปน อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ (0.02%)

ที่มา : มติชนออนไลน์

​ครม.เพิ่มสินค้าควบคุม “ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์มัน” สกัดโรคใบด่าง “หอมใหญ่” กันลักลอบนำเข้า

​ครม.เพิ่มสินค้าควบคุม “ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์มัน” สกัดโรคใบด่าง “หอมใหญ่” กันลักลอบนำเข้า

“พาณิชย์”เผย ครม.เห็นชอบบัญชีสินค้าควบคุมปี 62 ใหม่ ปรับรายละเอียดมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ เพิ่มต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์เข้ามาด้วย หวังสกัดโรคใบด่าง เกรงกระทบเกษตรกร และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง พร้อมเพิ่มบัญชีคุม “หอมใหญ่” หลังนำเข้าทะลัก ทำราคาตก ส่วนครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน ตัดออกจากสินค้าควบคุม

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ปี 2562 ใหม่ โดยได้เพิ่มรายละเอียดสินค้าควบคุม จำนวน 1 รายการ คือ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ปรับเป็น “ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์” และเพิ่มหอมใหญ่ เข้าเป็นสินค้าควบคุมอีก 1 รายการ แต่ตัดสินค้าครีมเทียมออกจากบัญชีสินค้าควบคุม ทำให้บัญชีสินค้าและบริการควบคุมในปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 52 รายการ

สำหรับสาเหตุที่ต้องปรับปรุงรายละเอียดของสินค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ เพราะปัจจุบันโรคไว้รัสใบด่างระบาด เป็นโรคร้ายแรง หากระบาดจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต กระทบต่อรายได้เกษตรกร และยังกระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งมันเส้น แป้งมัน เอทานอล และอาหารสัตว์ จึงต้องมีการเข้าไปดูแลเรื่องการขนย้ายท่อนมันในพื้นที่ๆ มีการระบาด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น

ส่วนหอมใหญ่ ที่ต้องเพิ่มเป็นสินค้าควบคุม เพราะเกษตรกรร้องเรียนถึงปัญหาการลักลอบนำเข้าหอมใหญ่ และทำให้ราคามีปัญหา โดยปี 2561 มีการนำเข้าหอมใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 3.6 หมื่นตัน เพิ่มเป็น 8.9 หมื่นตัน หรือเพิ่มขึ้น 144% จึงต้องมีการควบคุมการเคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้า โดยการนำเข้าแบบปกติจะเสียภาษีสูงถึง 57% แต่การลักลอบนำเข้า ไม่ต้องเสียภาษี

ขณะที่การยกเลิกครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน ออกจากสินค้าควบคุม เนื่องจากการบริโภคลดลง ตลาดมีผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวนหลายราย มีการแข่งขันสูง และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการแจ้งขอปรับราคาจำหน่ายสินค้า และไม่มีการร้องเรียนเรื่องราคาจำหน่ายสูงเกินสมควร รวมทั้งเดิมต้องมีการนำเข้าวัถตุดิบ (ไขมันเนย) ในการผลิต แต่ปัจจุบันได้ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบทดแทน จึงไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมอีก

ที่มา : Commerce News Agency

อู๊ดด้า’ลุยไร่มันสำปะหลัง จี้รัฐแก้โรคใบด่างระบาด

อู๊ดด้า’ลุยไร่มันสำปะหลัง จี้รัฐแก้โรคใบด่างระบาด

พรรคประชาธิปัตย์ลงพื้นที่โคราช เข้าหารือเกษตรกร และผู้ประกอบการโรงงานแป้งมัน หลังชาวไร่มันประสบปัญหาโรคใบด่างจากแมลงหวี่ขาวเล่นงานหลายพันไร่ในหลายจังหวัด ไฟเขียว ‘วุฒิพงษ์’ ส.ส.อุบลฯ ตั้งกระทู้ในสภาฯ สัปดาห์นี้จาก รมต.เกษตรฯ ถามหาแนวทางแก้ไข ยันมาโคราชในฐานะ ส.ส.ไม่ใช่ว่าที่รัฐมนตรี แต่พร้อมทำงานเต็มที่

เมื่อวันที่ ๑ กรกฏาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานเทศบาลตำบลไชยมงคล จังหวัดนครราชสีมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (อู๊ดด้า) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ ประกอบด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช รองหัวหน้าพรรค นายไชยยศ จิรเมธากร รองหัวหน้าพรรค นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ดร.รัชดา ธนาดิเรก นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข กรรมการบริหารพรรค นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ดร.ศุภชัย ศรีหล้า นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรค นายธนน เวชกร กานนท์ และนายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ลงพื้นที่พบปะตัวแทนเกษตรกร และผู้ประกอบการมันสำปะหลัง เพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และติดตามสถานการณ์ราคามันสำปะหลัง โดยมีประชาชนให้การต้อนรับกว่า ๕๐๐ คน

เวลา ๑๓.๐๐ น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ เดินทางไปที่สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมประชุมกับ ๔ องคาพยพ คือ ๑.ชาวไร่มันสำปะหลัง ๒.ผู้ประกอบการลานมัน ๓.ผู้ประกอบการโรงมัน และ๔.ผู้ส่งออกมันสำปะหลัง โดยมีนายสมบูรณ์ วัฒนวานิชย์กุล นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลัง นายบุญชัย ศรีชัย ยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย และนายสมชาย วราธนสิน นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา และนายพรชัย อำนวยทรัพย์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะอุปนายกสมาคมไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกว่า ๕๐ คน

‘ไทย’ผลิตมันฯที่ ๒ ของโลก

นายสมบูรณ์ วัฒนวานิชย์กุล นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า มันสําปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีความสําคัญเป็นอันดับ ๕ ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพดขาว มันฝรั่ง ในปี ๒๕๖๑ มีผลผลิตทั่วโลกปริมาณรวมประมาณ ๒๒๗ ล้านตัน โดยผลผลิตอยู่ในทวีปแอฟริกา ๑๖๐.๗๓ ล้านตัน ทวีปเอเชีย ๘๕.๕๑ ล้านตัน และทวีปลาตินอเมริกา ๓๐.๕๙ ล้านตัน โดยมีประเทศผู้ผลิตมัน สําปะหลังที่สําคัญ ๕ อันดับแรกของโลก ได้แก่ ประเทศไนจีเรีย มีผลผลิตประมาณ ๕๖ ล้านตัน (ร้อยละ ๒๐) รองลงมาคือ ประเทศไทย มีผลผลิตประมาณ ๒๗.๗ ล้านตัน (ร้อยละ๑๐) ประเทศอินโดนีเซีย มีผลผลิตประมาณ ๒๑ ล้านตัน (ร้อยละ ๘) ประเทศบราซิลมีผลผลิตประมาณ ๒๐.๙ ล้านตัน (ร้อยละ ๘) และประเทศ กาน่า มีผลผลิตประมาณ ๑๙.๔ ล้านตัน (ร้อยละ ๗)

“สําหรับประเทศไทย มันสําปะหลังนับเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ที่สําคัญ มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า ๗ แสนครัวเรือน มีปริมาณผลผลิตประมาณ ๒๗-๓๐ ล้านตัน ในแต่ละปีโดยประเทศไทยเป็น ประเทศผู้ผลิตมันสําปะหลังมากเป็นอันดับที่ ๒ ของโลก รองลงมาจากประเทศไนจีเรีย ตามข้อมูลข้างต้น ในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจํานวนหลายหมื่นล้านบาท จวบจนปี ๒๕๕๖ มัน สําปะหลังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึงแสนล้านบาทตลอดมา”

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยมีการใช้มันสําปะหลังภายในประเทศเพียงร้อยละ ๓๐ ส่วนที่เหลือร้อยละ ๗๐ ส่งออก ไปยังตลาดโลก โดยในปี ๒๕๖๑ มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ มันสําปะหลังคิดเป็นหัวมันสดกว่า ๒๗.๗ ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศ มูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสําปะหลัง อันดับหนึ่งของโลกด้วยทั้งนี้ อุตสาหกรรมมันสําปะหลังในประเทศไทยมีความต้องการใช้หัวมันในระดับ ๓๓-๔๖ ล้านตัน ในราคาที่เหมาะสม

วอนรัฐจัดสรรงบ เพื่อความยั่งยืน

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า มันสําปะหลังสร้างรายได้เข้าประเทศปีละประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลังในการยึดอาชีพ ปลูกมันฯ อย่างยั่งยืน ให้ข้อมูลเกษตรกรให้เข้าใจถึงความต้องการของตลาด พัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นอันจะส่งผลให้ต้นทุนต่ำลง พัฒนาใช้เครื่องจักรในการเพาะปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสนับสนุนเกษตรกรเป็นเครือข่ายในการป้อนหัวมันสดให้ผู้ประกอบการ ที่ต้องการใช้หัวมันได้ทํางานตลอดทั้งปี อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งในการพยุงราคาหัวมันไม่ให้ตกต่ำเกินความเป็นจริง และควรกําหนดมาตรการเสริมเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาให้เกิดความเหมาะสมทั้งระบบเพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในด้านราคาโดยที่ราคามันฯ ไม่ควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุน ของเกษตรกรไทย

เร่งจำกัด ‘โรคใบด่างมันฯ’

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคที่ต้องดําเนินการเร่งด่วนคือ ๑.กําหนดนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน ที่ประสบปัญหาโรคใบด่างมันสําปะหลัง พร้อมออกมาตรการกําจัด และป้องกันโรคใบด่าง มันสําปะหลัง Cassava Mosaic Disease (CMD) จัดตั้งงบฉุกเฉินเพื่อใช้ในการทําลายล้างไร่มันสําปะหลังที่เป็นโรคใบด่างฯ ฉีดยากําจัดแมลงหวี่ขาวให้ครอบคลุมพื้นที่ จัดหาท่อนพันธุ์มันฯ ที่ปลอดโรคไว้ปลูกทดแทน และภาครัฐควรสนับสนุนท่อนพันธุ์มันสะอาดสําหรับฤดูกาลใหม่เพื่อสร้างแนวกันชนโรคในมันสําปะหลังที่กําลังระบาดอย่างจริงจัง

“เนื่องจากวิกฤตในครั้งนี้หมายถึงความหายนะของมันสําปะหลังไทยทั้งระบบ ควรเพิ่มความเข้มงวดในการกํากับดูแลการนําเข้ามันสดและมันเส้นจากประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติและไม่ให้มีส่วนขยายพันธุ์พืชได้แก่ท่อนพันธุ์เหง้าใบ ติดมากับรถขนส่งเป็นอันขาด และควรเร่งทําลายโรคใบด่างฯ ภายในประเทศเพื่อชะลอ และหยุดยั้ง การแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ปัจจุบันมีการโฆษณาขายพันธุ์มันสําปะหลังเกินความเป็นจริงอย่างมากมายที่ไม่ได้เป็นพันธุ์”

‘จุรินทร์’หวังปลูกมันฯ ดันเศรษฐกิจ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เหตุผลที่ตัดสินใจเดินทางมาที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะโคราชเป็นจังหวัดที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดใน ๔๙ จังหวัดที่ปลูกกันทั่วประเทศ นอกจากจะมาพบเกษตรกรที่ปลุกมันสำปะหลังแล้ว ยังมีโอกาสได้พูดคุยหารือกับผู้ผลิตสินค้าแปรรูปต่างๆ จากมันสำปะหลังด้วย ซึ่งถือเป็นการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นถึง ๔ กลุ่ม คือ ๑.ชาวไร่มันสำปะหลัง ๒.ผู้ประกอบการลานมัน ๓.ผู้ประกอบการโรงมัน และ ๔.ผู้ส่งออกมันสำปะหลัง เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้มันสำปะหลังเป็นหลัก ส่วนแนวทางต่อจากนี้จะเป็นการมุ่งเน้นในเรื่องของการประกันรายได้ของเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ จากการรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม และแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อที่จะให้ชาวไร่มันสำปะหลัง ลานมัน โรงมัน และผู้ส่งออกมัน สามารถที่จะอยู่ร่วมกัน และคอยเกื้อหนุนกันได้ และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น และเพื่อเป็นการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ โดยใช้มันสำปะหลังพื้นฐาน เพื่อเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เตรียมยิงกระทู้ แก้โรคใบด่าง

“ส่วนการลงพื้นที่ในครั้งนี้ตนมาในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น และเป็นตัวแทนของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้มาในฐานะอื่น ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลยังคงต้องรอต่อไป แต่ตนหวังว่าจะทำหน้าที่ดีที่สุดเพื่อพี่น้องประชาชน โดยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ตนได้ให้นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.เขต ๓ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่โดนโรคใบด่างมันสําปะหลังจากแมลงหวี่ขาว ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรได้รับผลกระทบหลายจังหวัดครบคลุมหลายพันไร่” นายจุรินทร์ กล่าว

ตามนโยบายเน้นประกันรายได้

นายจุรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า จากนี้จะมุ่งเน้นในด้านการประกันรายได้ของเกษตรกรมันสำปะหลัง ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่ที่ผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ สามารถมีรายได้ที่เป็นหลักประกันได้ และเป็นหลักประกันให้ลานมัน โรงมัน และ ผู้ส่งออกมัน สามารถให้อยู่รวมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะดำเนินการ นอกจากเรื่องของหลักประกันรายได้แล้ว จะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการใช้มันในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการทำเกษตรพันธสัญญา คือการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่จะรวมตัวกันบริหารจัดการ ซึ่งจะทำสัญญาอย่างชัดเจน เช่นว่า จะมีการรับซื้อกิโลกรัมละเท่าไร และมีคุณภาพแค่ไหน เพื่อเป็นหลักประกันขั้นต้น และผู้ซื้อผู้ใช้จะได้มีหลักประกันในเรื่องของปริมาณและคุณภาพ เพื่อที่จะได้มันสำปะหลังที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในด้าอุตสาหกรรม หรือการดำเนินธุรกิจได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ จะเน้นเรื่องของการขยายตลาดใหม่ๆ ในการส่งออก โดยปัจจุบัน เรามีตลาดส่งออกในหลายๆประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งอาจจะต้องไปขยายตลาดในหลายๆ ภูมิภาคของโลก สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย ซึ่งเป็นแนวทางขั้นต้นที่เตรียมไว้

ในข้อซักถามที่ว่าฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาล มีเพียงนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ในส่วนรัฐบาลจะต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีก่อน ส่วนระบบตรวจสอบของฝ่ายค้านเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากระบบรัฐสภาต้องมีทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายค้าน จะเป็นรูปแบบการตั้งกระทู้ถาม การยื่นญัตติ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถทำได้ และในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. ไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคร่วมรัฐบาล ก็พร้อมน้อมรับ และสนับสนุนให้มีการตรวจสอบ เพราะระบบรัฐสภา ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดเพราะจะมีฝ่ายบริหารที่ดี และมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง เพื่อตรวจสอบร่วมกัน สุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือประชาชน

ทั้งนี้ในกระแสที่บางพรรคยังมีการทะเลาะกันเอง นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตรงนั้นเป็นปัญหาของแต่ละพรรคที่ต้องจัดการ คลี่คลายปัญหาภายในของตัวเอง ความมีเสถียรภาพจะต้องขึ้นอยู่ ๒ ส่วน คือ เสียงในสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก หากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แน่นอนว่าไม่มีเสถียรภาพแน่นอน ในขณะเดียวกัน ผลงานของรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ถ้ารัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดิน มีผลงานที่มีความชัดเจน ประชาชนพอใจ ก็จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนยอมรับมากขึ้น และตนไม่ขอออกความคิดใดๆ เนื่องจากการแก้ปัญหาภายในพรรค หัวหน้าพรรคเองรู้อยู่แล้วว่าควรทำอย่างไร โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ ที่เข้ามาในนามพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน ก็พอทราบอยู่แล้วว่าควรทำอย่างไร

ที่มา : หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน

“จุรินทร์”ลุยอีสานสแกนปัญหาข้าว-มันสำปะหลัง 1 ก.ค.นี้

“จุรินทร์”ลุยอีสานสแกนปัญหาข้าว-มันสำปะหลัง 1 ก.ค.นี้

ปชป.ลุยเวทีสภายื่นญัตติดับทุกข์เกษตรกร “จุรินทร์”บุกอีสานสแกนปัญหาข้าว-มันสำปะหลัง 1 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคเห็นควรยื่นญัตติ เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก โดยประเด็นที่จะมีการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายมีทั้งปัจจัยในการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ที่มีราคาแพง ประกอบกับสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีราคาสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้ประชาชนในภาคการเกษตรประสบปัญหาความยากจน จึงอยากให้รัฐบาลเร่งเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร เพื่อให้สินค้าเกษตรมีความเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และจะทำให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น ผลการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติเรื่องนี้ก็จะส่งการพิจารณาให้รัฐบาลไปดำเนินการต่อไป

นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรภายนอก พรรคประชาธิปัตย์ (EON DP) ซึ่งมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคฯ เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ได้เตรียมจัดตั้งคณะทำงานฯ เพื่อสอดรับการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเกษตร ภาคเศรษฐกิจและอีก 15 กลุ่ม ในบริบทสังคมไทย โดยเบื้องต้นได้มอบหมาย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก เลขานุการคณะกรรมการฯ ทำการสังเคราะห์จัดเรียงภารกิจ เพื่อให้สอดรับตามนโยบายพรรคและรัฐบาล และมอบหมายให้นายบุญยอด สุขถิ่นไทย กรรมการฯเตรียมเปิดทุกช่องทางในการสื่อสารและรับทราบปัญหาและแนวทางเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ในภาพรวมทั้งประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค จะนำแต่ละคณะกรรมการชุดต่างๆ ลงพบปะแลกเปลี่ยนและแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน โดยในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะลงพื้นที่ภาคอีสาน จ.นครราชสีมา เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับเกษตรกรภาคอีสาน ในเรื่องมันสำปะหลังและข้าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

กรมวิชาการเกษตร หารือร่วมกับกระทรวงศุลกากรจีน เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญจากไทยไปจีน

กรมวิชาการเกษตร หารือร่วมกับกระทรวงศุลกากรจีน เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญจากไทยไปจีน

วันที่ 26 มิถุนายน 2562 นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หารือร่วมกับผู้แทนกระทรวงศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญจากไทยไปจีน ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว และผลไม้ โดยทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการตรวจประเมินผู้ผลิตและแปรรูปข้าวของไทย ซึ่งจีนจะอำนวยความสะดวกให้ไทยสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อส่งออกข้าวไปจีนได้เร็วขึ้น โดยพิจารณาจากผลการตรวจประเมินโดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การตรวจประเมินและเงื่อนไขของจีน

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถหาข้อสรุปในสาระสำคัญของพิธีสารเพื่อการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังจากไทยไปจีน โดยจะจัดให้มีการลงนามร่วมกันโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจีนไม่ขัดข้องที่จะอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านด่านตงซิงเพิ่มเติมจากด่านโหย่วอี้กว่าน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผลไม้ไทยสามารถส่งออกได้สะดวกและสามารถกระจายไปยังเมืองอื่นๆ ของจีนได้เพิ่มขึ้น

P620626-02 P620626-03 P620626-04 P620626-05

ที่มา : Fackbook สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

 

สกัดโรคใบด่างมันสำปะหลังผวาฉุดส่งออกกว่า 9 หมื่นล้านวูบ

สกัดโรคใบด่างมันสำปะหลังผวาฉุดส่งออกกว่า 9 หมื่นล้านวูบ

จากการที่ประเทศไทยในแต่ละปีสามารถขยายมูลค่าการส่งออกมันสําปะหลังผลิตภัณฑ์รวมไม่ต่ำกว่าปีละ 9 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะมันเส้นและกากมันสามารถคลองตลาดจีนได้ถึง 80% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ดังนั้นหากเกษตรกรผู้ปลูกของไทยเจอกับโรคใบด่างจะทำให้มีผลกระทบโดยตรง

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่าได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเรียกประชุม และอธิบดีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ตรวจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อระดมสมองหาแนวทางแก้ไขปัญหาเช่น วิธีระงับปัญหา มาตรการสกัดกั้น การเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลผลิตประสบโรคระบาด และให้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อระดมกำลังแก้ไขปัญหาด้วย

“สำหรับมาตรการเร่งด่วน ให้มีการควบคุมพื้นที่ที่พบการระบาด เช่น ตรวจยืด/ควบคุม/จำกัดบริเวณท่อนพันธุ์ พาหะโรค เพื่อรอการทำลาย และควบคุมมิให้เคลื่อนย้ายพาหะไปยังพื้นที่อื่นๆ การระดมวัสดุ/สารเคมีฆ่าเชื้อ และปฏิบัติการทำลายพาหะโรค 3. การบันทึก/พิสูจน์/ตรวจวิเคราะห์ทางห้อง lab เพื่อนำไปสู่การประกาศเขตระบาดโรค และให้การช่วยเหลือตามระเบียบ”

4. การตั้งด่านสกัดกั้น และหาข่าวการลักลอบเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์/พาหะโรค ตามแนวชายแดน และรอบพื้นที่รัศมีการระบาด
5. ในพื้นที่รอบรัศมีการระบาด/หรือมีความเสี่ยง ให้ จนท เกษตรจังหวัด อำเภอ ตำบล อาสาสมัครเกษตร ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ตรวจเยี่ยม แนะนำ และกำกับ ให้เกษตรกรได้จัดการแปลงมันฯ ตามหลักวิชาการ (ค้นหาโรค พ่นสารเคมีทำลาย /ป้องกัน)
6. ระดมสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่ และให้ความรู้ก่อนปฏิบัติการตามข้อ 1-4
7. เตรียมงบประมาณเพื่อการจัดหาวัสดุ เครื่องมือ ในการปฏิบัติการ
8. ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ แก่เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ องค์กรระหว่างประเทศ ด้านระบาดวิทยา 9. ปฏิบัติการค้นหาโรค scaning/ surviellance อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง
10. ปฏิบัติการร่วมประเทศเพื่อนบ้านเพื่อค้นหาโรคและทำลาย (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) และ
11. เตรียมห้อง Lab เครื่องมือตรวจวิเคราะห์โรค เพื่อรองรับตัวอย่างที่ส่งตรวจ วินิจฉัย และรายงานโรค ที่เป็นสากลแหล่ง

ข่าวกระทรวงพาณิชย์ เผย การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยปี 2561 มูลค่ารวม 9.96 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นมันสำปะหลังอัดเม็ดและมันเส้น 2.84 หมื่นล้านบาท แป้งมันสำปะหลัง 4.4 หมื่นล้านบาท ตลาดส่งออก 5 อันดับได้แก่ 1.ประเทศจีน 2.ญี่ป่น 3.อินโดนีเซีย 4.ไต้หวัน และ 5.มาเลเซีย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ