ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฟันธง เศรษฐกิจไทยปีระกาโตร้อยละ 3.3 แนวโน้มไม่แย่กว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกิจรุ่ง ได้แก่ ก่อสร้าง สุขภาพและท่องเที่ยว ตลาดรถยนต์ในประเทศ และอาหารส่งออก ส่วนธุรกิจร่วง ได้แก่ ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ค้าปลีกกลุ่มไฮเปอร์มาร์เกต-ร้านโชวห่วย อสังหาริมทรัพย์ แนะเอสเอ็มอีปรับตัว กระจายความเสี่ยงด้านตลาดและแหล่งวัตถุดิบ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม พร้อมแสวงหาโอกาสธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทความ “จับตาธุรกิจรุ่งหรือร่วง ปี 60” โดยคาดการณ์ว่าในปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.3 การตลาดของภาคธุรกิจไม่ด้อยไปกว่าปี 2559 ส่งผลให้สภาวะทางการตลาดโดยรวมของภาคธุรกิจน่าจะมีทิศทางที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยส่งเสริมให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ กำลังซื้อครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น รัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผู้ส่งออกน้ำมันมีแนวโน้มตลาดตัวดีขึ้น
ส่วนตัวแปรสำคัญที่ทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันใกล้แตะ 50 ดาลลาร์ต่อบาร์เรล ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อธุรกิจรุ่ง และร่วงในปี 2560 ในภาพรวม ดังนี้
ธุรกิจรุ่ง ได้แก่ ก่อสร้าง สุขภาพและท่องเที่ยว ตลาดรถยนต์ในประเทศ และอาหารส่งออก
สำหรับกลุ่มส่งออก ได้แก่
• สินค้าที่ราคาอิงกับราคาน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางพารา เป็นต้น โดยสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 14 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในปี 2560 มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นเทียบกับในปี 2559 ที่ราคาสินค้ากลุ่มนี้อยู่ในระดับต่ำ
• สินค้าศักยภาพในตลาดที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม)
สินค้ากลุ่มนี้ เช่น กลุ่มอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ที่ผู้บริโภคให้การยอมรับด้านคุณภาพต่อสินค้าไทย
• สินค้าที่ได้รับปัจจัยบวกเฉพาะ อาทิ ไก่เนื้อ หลังจากที่เกาหลีใต้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากไทย รวมถึงหลายประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นมีปัจจัยลบจากโรคไข้หวัดนก รวมทั้ง ประมง จากความเป็นไปได้ที่ไทยจะหลุดพ้นจากสถานะใบเหลือง/ใบแดง โดยสหภาพยุโรป (ผลการประเมินน่าจะออกมาในช่วงครึ่งแรกของปี 2560)
สำหรับกลุ่มในประเทศ ได้แก่
• หมวดก่อสร้าง เครื่องจักรก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Action Planปี 2559 : 20 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และ Action Plan ปี 2560 : เบื้องต้น 30 กว่าโครงการ มูลค่าประมาณ 6-9 แสนล้านบาท) ครอบคลุมการก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมอเตอร์เวย์ การพัฒนาการขนส่งทางน้ำและอากาศ โดยคาดว่าหากมีความก้าวหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นน่าจะส่งผลให้ภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนตามมา
• สินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและการท่องเที่ยว จากกระแสการใส่ใจสุขภาพของประชาชนและการขยายสาขาของร้านขายยาและคลินิกไปสู่ชุมชน ตลอดจนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวในประเทศ และชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในไทย ซึ่งรวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ที่ไทยได้รับการยอมรับและแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
• ยอดขายรถยนต์ ทั้งรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มพลิกกลับมาเป็นบวกได้ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลบวกจากการครบกำหนดของโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งอาจจูงใจให้ผู้บริโภคบางส่วนซื้อรถยนต์คันใหม่
ธุรกิจร่วง ได้แก่ ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ค้าปลีกกลุ่มไฮเปอร์มาร์เกต-ร้านโชวห่วย อสังหาริมทรัพย์
สำหรับกลุ่มส่งออก
• สินค้าส่งออกไปตลาดที่ยังซบเซา ทั้งจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ซึ่งเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลง ทั้งนี้ สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ สินค้าเกษตรอย่างมันสำปะหลัง โดยเฉพาะหากจีนยังคงมีนโยบายที่จะระบายสต๊อกข้าวโพดในประเทศ อันจะทำให้เกิดการชะลอการนำเข้ามันสำปะหลังจากไทย สำหรับตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปนั้น กำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจอาจจะกระทบการนำเข้าสินค้าจากไทยในภาพรวมเช่นกัน
• สินค้าส่งออกที่เผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง เช่น ข้าว จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศผู้ผลิตหลักทั้งอินเดียและเวียดนาม ปูนซีเมนต์จากการขยายฐานการผลิตของบริษัทจีนรายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน
ส่วนกลุ่มตลาดในประเทศ
• หมวดที่พึ่งพากำลังซื้อครัวเรือนฐานราก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวและมันสำปะหลังที่ราคาในปี 2560 อาจจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ได้แก่ ค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค (ไฮเปอร์มาร์เกต โชวห่วย) ค้าเครื่องจักรกลการเกษตรและปัจจัยการผลิตอย่างปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์
• อสังหาริมทรัพย์ จากความต้องการที่อยู่อาศัยที่อาจจะไม่คึกคักมากนักหลังความต้องการซื้อล่วงหน้าถูกดึงมาบางส่วนจากผลของมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐในระยะที่ผ่านมา อีกทั้งปริมาณที่อยู่อาศัยคงค้างยังมีเหลืออยู่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะในทำเลที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เร่งเปิดโครงการ เช่น ตามโครงการแนวรถไฟฟ้าบางช่วง หรือตามจังหวัดหัวเมืองต่างๆ ขณะที่ต้นทุนที่ดินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการแข่งขันในตลาดยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ ผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะ SME ทั้งในธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวและธุรกิจที่ยังเผชิญความท้าทาย คงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาจุดแข็งของตนอยู่เสมอ โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
• การกระจายความเสี่ยงด้านตลาดและแหล่งวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยผู้ประกอบการอาจต้องพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของสายการผลิตที่ยังมีศักยภาพในการขยายตัว
• การใช้เครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการขาดทุนเมื่อราคาแกว่งตัวผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2560 เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวผันผวนในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอาจทดสอบระดับ 36.00 บาท/ดอลลาร์ ณ ปลายปี 2560 เทียบกับที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 35.62 บาท/ดอลลาร์ในปัจจุบัน (ณ 7 ธันวาคม 2559)
• การนำเทคโนโลยีหรือการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้ามาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เช่น การใช้สื่อออนไลน์หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักร เป็นต้น ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อประหยัดหรือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจการ
• การแสวงหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจทั้งแนวดิ่งและแนวราบ (Vertical & Horizontal Integration) เพื่อเพิ่มพูนรายได้ ซึ่งรวมถึงโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย โดยอาจเข้าร่วมจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ หรืออาศัยโครงการ/มาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐ ในการเจาะตลาด/กระจายแหล่งวัตถุดิบ
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์